หน่วยที่ 1 แหล่งกำเนิดและการเกิดปิโตรเลียม
ปิโตรเลียม (Petroleum) หมายถึง น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และสารประกอบ
ไฮโดรคาร์บอนอื่นๆ ปิโตรเลียมมีโครงสร้างที่สลับซับซ้อน เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติใน
ชั้นหินใต้พื้นโลก มีทั้งสภาพกึ่งของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานะความ
กดดันและอุณหภูมิภายใต้พื้นผิวโลก น้ำมันดิบจะมีสีดำหรือสีน้ำตาล มีคุณสมบัติแตก
ต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับอินทรียวัตถุต้นกำเนิดของปิโตรเลียม จากการสำรวจทาง
ธรณีวิทยาพบว่าชั้นหินที่เป็นแหล่งกักเก็บและสะสมตัวของปิโตรเลียมจะมีโครงสร้างที่แตกต่างกัน
ดังนั้นการศึกษาสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียม
ความหมายของปิโตรเลียม
คำว่า “ปิโตรเลียม” (Petroleum) มาจากภาษาละตินสองคำ คือ คำว่า Petra หมายถึง หิน และ Oleum หมายถึงน้ำมัน เมื่อนำคำสองคำมารวมกันคำว่า Petroleum จึงหมายถึงน้ำมันที่ได้จากหิน
ปัจจุบัน คำว่า “ปิโตรเลียม” หมายถึง น้ำมันดิบ (Crude Oil) ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) ก๊าซธรรมชาติเหลว และสารประกอบไฮโดรคาร์บอนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติมีตั้งแต่โมเลกุลเล็กๆจนถึงโมเลกุลขนาดใหญ่ และอยู่ในสภาพอิสระไม่ว่าจะมีสถานะเป็นของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซโดยทั่วไปแล้วปิโตรเลียมจะประกอบด้วยธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน กำมะถัน และไนโตรเจน เป็นต้น ปิโตรเลียมเข้ามามีบทบาทที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ เช่น การคมนาคม ขนส่ง อุตสาหกรรมการผลิต และการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าปิโตรเลียมมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่า ประเทศใดมีปริมาณทรัพยากรปิโตรเลียมมากประเทศนั้นก็จะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพราะพลังงานจากปิโตรเลียมเป็นรูปแบบพลังงานที่ตอบสนองความต้องการพลังงานของมนุษย์ได้มากกว่า 40% ของพลังงานทั้งหมด นอกจากนี้ปิโตรเลียมยังเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตพลาสติก ใยสังเคราะห์ ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช และอุตสาหกรรมปิโตรเลียมอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก จะเห็นได้ว่าปิโตรเลียมมีส่วนช่วยให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีในหลายวิถีทางและอุตสาหกรรมปิโตรเลียมยังได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการแสวงหาวิธีที่ดีกว่าในการสำรวจการผลิตและเปลี่ยนสภาพของปิโตรเลียม เพื่อนำปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
กำเนิดของปิโตรเลียม
ปิโตรเลียมเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อนเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติในชั้นหินใต้พื้นโลก มีทั้งที่อยู่ในสภาพกึ่งของแข็ง ของเหลวหรือก๊าซ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะความดัน และอุณหภูมิภายใต้พื้นผิวโลก เชื่อกันว่าปิโตรเลียมเกิดจากการทับถมและแปรสภาพของซากสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ที่เจริญเติบโตอาศัยอยู่ในโลกนับหลายล้านปีที่ได้ตายลง จากนั้นถูกกระแสน้ำพัดพามา ณ บริเวณที่เป็นทะเลหรือทะเลสาบ ซากสิ่งที่มีชีวิตเหล่านั้นจะตกตะกอนและคลุกเคล้าพร้อมทั้งถูกทับถมด้วยชั้นกรวด ทราย และโคลนตมที่แม่น้ำลำคลองได้พัดพามา ทับถมสลับกันเป็นชั้นๆ ตลอดเวลาชั้นตะกอนต่างๆ จะถูกทับถมมากขึ้น จนเกิดน้ำหนักกดทับกลายเป็นชั้นหินต่างๆ เช่น ชั้นหินทรายชั้นหินปูนและชั้นหินดินดาน เป็นต้น ความกดดันจากชั้นหินเหล่านี้ผนวกกับความร้อนใต้พื้นผิวโลกกระบวนการทางเคมี กระบวนการทางชีววิทยา และกระบวนการอื่นๆ เป็นต้นเหตุให้เกิดการสลายตัวของอินทรีย์สารตามธรรมชาติทำให้ซากพืชและซากสัตว์สลายตัวกลายสภาพเป็นน้ำมันดิบและก๊าชธรรมชาติ หรือที่เราเรียกกันว่า “ปิโตรเลียม”
องค์ประกอบสำคัญที่จะก่อให้เกิดแหล่งสะสมตัวของปิโตรเลียมนั้น ประกอบด้วย
➤ ชั้นหินที่เป็นต้นกำเนิดของปิโตรเลียม ได้แก่ ชั้นหินที่เกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์ เช่น หินตะกอน เป็นต้น
➤ ชั้นหินที่มีรูพรุนกักเก็บปิโตรเลียม ได้แก่ ชั้นหินที่กักเก็บน้ำมันดิบ ก๊าซ และน้ำ ชั้นหินเหล่านี้ ได้แก่ ชั้นหินทราย และชั้นหินปูน เป็นต้น
➤ ชั้นหินซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม ได้แก่ ชั้นหินที่ปิดกั้นไม่ให้น้ำมันและก๊าซระเหยตัวออกไปได้
ประวัติความเป็นมาของปิโตรเลียม
มนุษย์ได้รู้จักแหล่งกำเนิดขนาดเล็กๆ ของปิโตรเลียมบนพื้นดินทั่วไป เช่น การไหลซึมของก๊าซธรรมชาติ การซึมของน้ำมันเหลว การจับตัวของยางมะตอยที่เป็นลักษณะกึ่งของแข็งและร่องรอยที่เป็นทางหินพรุนติดยางมะตอย เป็นต้น การนำปิโตรเลียมในรูปของแข็ง ของเหลว และก๊าซมาใช้ประโยชน์โดยตรงพบได้ค่อนข้างน้อย การพัฒนาปิโตรเลียมมาใช้ เริ่มในยุคเมโซโปเตเมีย โดยได้นำยางมะตอยที่มากับน้ำมันนำมาใช้เคลือบมัมมี่ให้อยู่คงทนไม่เน่าเปื่อย ขณะเดียวกันก็ใช้ในงานประดับด้วย และเรือที่ใช้ตามลำแม่น้ำไนล์ก็ใช้เคลือบและอุดรูด้วยยางมะตอยเช่นกัน
ในประเทศอิหร่านมีการนำยางมะตอยมาใช้ทำเป็นซีเมนต์ก่อสร้างหอคอยบาเบล ในโบสถ์บาบิโลเนียน ก็ใช้ยางมะตอยแปะติดฝาผนังประดับด้วยหินโมเสคสีต่างๆ ในราว 50 ปีก่อนพุทธศักราชชาวอียิปต์โบราณได้ใช้น้ำมันเหลว (Green Oil หรือ Syrian Oil) ทำความสะอาดและทาแผลเป็นครั้งแรกนอกจากนี้พบว่าชาวจีนมีการนำปิโตรเลียมมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ในสมัยราชวงศ์ซูฮานด้วยการขุดจากหลุมตื้นๆ เมื่อปี พ.ศ. 740
คุณสมบัติของปิโตรเลียม
โดยทั่วไปแล้วปิโตรเลียม หรือน้ำมันดิบจะมีสีดำหรือสีน้ำตาล มีกลิ่นคล้ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป แต่บางชนิดจะมีกลิ่นของสารอื่นผสมด้วย เช่น กลิ่นกำมะถันและกลิ่นไฮโดรเจนซัลไฟด์หรือก๊าซไข่เน่า เป็นต้น ปิโตรเลียมหรือน้ำมันดิบแต่ละแห่งจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามองค์ประกอบของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนและสิ่งเจือปนอื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของอินทรียวัตถุซึ่งเป็นต้นกำเนิดของปิโตรเลียมและสภาพแวดล้อมของแหล่งที่เกิดปิโตรเลียม นอกจากนั้นความหนืดของน้ำมันดิบก็แตกต่างกันไป มีตั้งแต่เป็นของเหลวเหมือนน้ำจนถึงความหนืดคล้ายกับยางมะตอยค่าความถ่วงจำเพาะของปิโตรเลียม จะมีค่าประมาณ 0.80-0.97 ที่อุณหภูมิ 15.6 °C (60 °F) ซึ่งเบากว่าน้ำ ดังนั้นเมื่อน้ำมันดิบรวมกับน้ำ น้ำมันดิบจะลอยอยู่เหนือน้ำสำหรับก๊าซธรรมชาติแห้งจะไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ส่วนก๊าซธรรมชาติเหลวจะมีลักษณะคล้ายน้ำมันเบนซิน ก๊าชธรรมชาติแต่ละแหล่งมักจะมีคุณสมบัติแตกต่างกันไปเช่นเดียวกับน้ำมันดิบ โดยทั่วไปแล้วปิโตรเลียมจะประกอบด้วยธาตุต่างๆ โดยประมาณดังนี้
ตาราง แสดงส่วนประกอบของธาตุในน้ำมันดิบโดยประมาณ
การสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียม
การสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม มีขั้นตอนที่ซับซ้อนต้องใช้เงินลงทุนสูงและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งอัตราการเสี่ยงในการขาดทุนก็ยังมีสูงมากอีกด้วย ถึงแม้ว่าจะได้มีการสำรวจและศึกษาสภาพทางธรณีวิทยาถึงแหล่งที่อาจมีปิโตรเลียมสะสมตัวอยู่อย่างละเอียดแล้วก็ตาม ก็ยังไม่สามารถทราบได้ว่าบริเวณนั้นจะมีปิโตรเลียมสะสมตัวอยู่หรือไม่ และคุ้มค่ากับการลงทุนทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด จนกว่าจะได้มีการเจาะสำรวจ การสำรวจหาและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม ที่ผ่านมาส่วนมากแล้วจะกระทำกันบนส่วนที่เป็นพื้นดิน ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าแหล่งปิโตรเลียมใหญ่ๆ บนส่วนที่เป็นพื้นดินได้ถูกค้นพบและพัฒนานำมาใช้เป็นส่วนมากแล้ว ปัจจุบันการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมแหล่งใหม่จึงมุ่งไปยังบริเวณที่เป็นทะเลหรือมหาสมุทร ซึ่งบางแห่งมีระดับน้ำลึกมาก และสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงาน ทำให้การสำรวจมีความยากลำบากและต้องใช้เงินลงทุนสูง รวมทั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าการสำรวจบนพื้นดินอีกด้วย การสำรวจหาและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมมีวิธีการสำรวจได้2 วิธี คือ
1. การสำรวจทางธรณีวิทยา เป็นการสำรวจสภาพพื้นที่เพื่อการค้นหาหินต้นกำเนิดหินกักเก็บ และแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมว่ามีอยู่หรือไม่ และอยู่บริเวณใด การสำรวจเริ่มด้วยการจัดทำแผนที่บริเวณที่ทำการสำรวจ โดยอาศัยข้อมูลจากภาพถ่ายทางอากาศ แผนที่ที่ได้จะทำให้ทราบได้ว่าบริเวณใดมีโครงสร้างทางธรณีวิทยาควรที่จะทำการสำรวจต่อไป การสำรวจขั้นละเอียดนั้น นักธรณีวิทยาจะเดินเข้าไปสำรวจเพื่อหารายละเอียด โดยการตรวจดูหินที่โผล่พ้นผิวดินตามหน้าผา หุบเขา และตามบริเวณริมแม่น้ำลำธาร เพื่อตรวจชนิดและลักษณะของหิน ตลอดจนซากพืชซากสัตว์ (Fossils) เพื่อจะได้ทราบถึงอายุ ประวัติความเป็นมาของหินบริเวณนั้น และยังต้องวัดแนวทิศทางความลาดเอียงของชั้นหิน บันทึกรายละเอียดลงในแผนที่ ข้อมูลต่างๆ ที่ได้จะทำให้สามารถคาดคะเนได้ว่า โครงสร้างของหินบริเวณนั้นเป็นแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมหรือไม่
2. การสำรวจทางฟิสิกส์ เป็นการสำรวจหาบริเวณที่คาดว่าน่าจะมีแหล่งปิโตรเลียม โดยก่อนที่จะทำการเจาะสำรวจนั้น จำเป็นต้องสำรวจเพื่อหาโครงสร้างและลักษณะของชั้นหินให้ทราบแน่นอนก่อน โดยอาศัยวิธีการทางธรณีฟิสิกส์ วิธีที่นิยมใช้ คือ
➤ วิธีวัดค่าสนามแม่เหล็ก (Magnetic Survey) วิธีนี้จะวัดค่าความแตกต่างของสนามแม่เหล็กโลก ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้าง หรือความสามารถในการดูดซึมแม่เหล็กของหินที่อยู่ใกล้ผิวโลก โดยทั่วๆ ไป ชั้นหินจะมีการดูดซึมแม่เหล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับหินอัคนีหรือหินแปร การวัดค่าสนามแม่เหล็กส่วนมากแล้วจะแสดงให้ทราบถึงลักษณะโครงสร้างของหินรากฐาน วิธีวัดกระแสแม่เหล็ก จะวัดจากค่าความเข้มของกระแสแม่เหล็กโดยใช้เครื่องมือวัดค่าสนามแม่เหล็ก ค่าที่ได้จากเครื่องมือวัดเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียม
➤วิธีวัดคลื่นความสั่นสะเทือน (Seismic Survey) วิธีนี้ใช้วิธีการจุดระเบิดหรือการกระแทกบนพื้นดินจนทำให้เกิดคลื่นความสั่นสะเทือน วิ่งลงไปกระทบชั้นหินใต้ดินหรือใต้ท้องทะเล แล้วสะท้อนกลับขึ้นมาบนผิวโลกเข้าเครื่องรับ ซึ่งเครื่องรับจะบันทึกเวลาของคลื่นความสั่นสะเทือนจากชั้นหิน ณ ที่ต่างๆ กัน จากระยะเวลาที่คลื่นความสั่นสะเทือนเดินทางลงไปกระทบชั้นหินและสะท้อนกลับขึ้นมาบนผิวโลก สามารถนำมาคำนวณหาความหนาแน่นของชั้นหินที่เป็นตัวสะท้อนคลื่นได้ ข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาเขียนเป็นแผนที่แสดงถึงตำแหน่งและรูปร่างลักษณะโครงสร้างของชั้นหิน วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากที่สุด
เครื่องมือที่ใช้เจาะ ใช้หัวเจาะชนิดฟันเฟืองต่ออยู่กับก้านเจาะ ซึ่งจะสอดผ่านลงไปในแท่นหมุนขณะเจาะ หัวเจาะประกอบด้วยลูกล้ออยู่ตรงตำแหน่งด้านล่าง มีฟันทำด้วยโลหะแข็ง โดยเครื่องยนต์จะขับเคลื่อนแท่นหมุนๆ จะพาก้านเจาะและหัวเจาะหมุนกัดบดชั้นหินลงไป หัวเจาะจะจมดิ่งลงไปเรื่อยๆขณะทำการเจาะหลุมจะใช้ของเหลวที่เรียกว่า “น้ำโคลน”ซึ่งเป็นส่วนประกอบของน้ำมันหรือน้ำกับดินเหนียว และสารผสมสารเคมีเพิ่มน้ำหนักผสมอยู่ด้วย เพื่อทำหน้าที่เป็นวัสดุหล่อลื่นหัวเจาะขณะเดียวกันก็จะเป็นตัวลำเลียงเศษหิน ดิน ทราย จากหลุมเจาะขึ้นมายังปากหลุมได้ตลอดเวลา
นอกจากนั้นน้ำโคลนยังช่วยควบคุมความดันในหลุมเจาะ กล่าวคือ เมื่อหัวเจาะทะลุเข้าไปในแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมจะมีแรงดันธรรมชาติจากแหล่งเก็บกักปิโตรเลียม แรงดันนี้จะมีค่าหลายพันปอนด์ต่อตารางนิ้ว การผสมน้ำโคลนให้หนักโดยใช้แร่หนักผสมลงไปจะช่วยกดหรือต้านแรงดันธรรมชาติไว้ได้ ยังช่วยในการควบคุมความดันระหว่างการเจาะ และป้องกันการพลุ่งและระเบิดในหลุมปิโตรเลียมได้ เมื่อเจาะลึกมากๆ ก็จะต้องใส่ท่อกรุกันหลุมพัง โดยจะสวมท่อกรุกันเป็นช่วงๆ จากท่อขนาดประมาณ 76 เซนติเมตร ในช่วงปากหลุม แล้วลดขนาดลงจนถึงประมาณ 18 เซนติเมตรในช่วงก้นหลุมของการเจาะ
ขณะที่ทำการเจาะจะมีเครื่องวัดก๊าซ เพื่อวัดปริมาณก๊าซที่อาจปนขึ้นมากับน้ำโคลนที่พาเศษหินดินทรายขึ้นมาจากหลุมทุกๆ ระยะ ค่าของก๊าซที่วัดได้จะเป็นข้อสังเกตอันแรกว่า ในชั้นหินที่มีรูพรุนที่หัวเจาะเจาะผ่านลงไปแต่ละชั้นนั้น ชั้นใดบ้างที่จะมีก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันสะสมตัวอยู่ ส่วนเศษหินและทรายจะถูกนำมาศึกษาในห้องทดลองว่า มีน้ำมันเกาะอยู่บ้างหรือไม่ หลังจากที่ทำการเจาะลงไปถึงระยะหนึ่งที่เห็นว่าควรจะลงท่อกรุ ก็จะทำการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ในหลุมเจาะก่อน เพื่อวัดคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของหินและของเหลวที่มีอยู่ในชั้นหินต่างๆ ทั้งนี้เพื่อศึกษารายละเอียดของชั้นหินว่า หินชั้นใดบ้างที่มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสะสมตัวอยู่ ซึ่งจะสามารถคำนวณได้อย่างคร่าวๆ ว่าในช่องว่างของชั้นหินที่เป็นรูพรุนนั้นจะมีปิโตรเลียมสะสมตัวอยู่กี่เปอร์เซ็นต์ คุ้มค่ากับการพัฒนาแหล่งผลิตปิโตรเลียมหรือไม่ การเจาะสำรวจปิโตรเลียมในขั้นแรกนี้อาจแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ
➤ ขั้นตอนแรกเป็นการเจาะสุ่ม (Wild Cat Well) เป็นการเจาะหลุมแรกบนโครงสร้างของชั้นหินในแต่ละพื้นที่
➤ ขั้นตอนที่สองเป็นการเจาะสำรวจหาขอบเขต (Exploratory Well) เมื่อเจาะพบร่องรอยของปิโตรเลียมจากหลุมเจาะสุ่มแล้วจากนั้นก็จะวางโครงการเจาะสำรวจหาบริเวณขอบเขตโครงสร้างแต่ละพื้นที่ว่าจะมีปริมาณปิโตรเลียมครอบคลุมเนื้อที่เพียงใด เพื่อกำหนดแผนการพัฒนาแหล่งผลิตปิโตรเลียมต่อไป
การพัฒนาแหล่งผลิตปิโตรเลียม
การพบปิโตรเลียมในขั้นตอนการเจาะสำรวจ มิได้หมายความว่า จะสามารถตั้งแท่นผลิตปิโตรเลียมได้ทันที ในการตั้งแท่นผลิตปิโตรเลียมจะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องทราบข้อมูลที่ได้จากการสำรวจเบื้องต้น จากการเจาะสำรวจข้อมูลเหล่านั้นจะถูกนำมาวิเคราะห์อย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อทราบถึงขอบเขต โครงสร้าง ชนิด และลักษณะของหินที่พบปิโตรเลียมจากนั้นจึงเจาะหลุมทดลองผลิต อย่างน้อย 3 หลุม เพื่อศึกษาสภาพการผลิต คำนวณหาปริมาณปิโตรเลียมสำรอง และปริมาณปิโตรเลียมที่จะผลิตได้ในแต่ละวันรวมทั้งการนำปิโตรเลียมที่ค้นพบมาตรวจสอบคุณภาพให้แน่ชัดเสียก่อน พร้อมกันนั้นก็อาจจะต้องทำการศึกษาถึงลักษณะโครงสร้างของปิโตรเลียมและชั้นหินเพิ่มเติมเพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการออกแบบแท่นผลิตและการวางแผนเพื่อการผลิต ถ้าแหล่งผลิตปิโตรเลียมที่พบนั้นมีปริมาณเชิงพาณิชย์ กล่าวคือมีปริมาณที่ให้ผลคุ้มค่ากับการลงทุน จึงจะทำการติดตั้งแท่นผลิตและเจาะหลุมผลิต เพื่อนำปิโตรเลียมที่สะสมตัวอยู่มาใช้ประโยชน์ต่อไป
แหล่งปิโตรเลียมที่สำคัญของโลก
แหล่งปิโตรเลียมที่มีขนาดใหญ่และสำคัญของโลกส่วนมากจะอยู่ในกลุ่มประเทศแถบ ตะวันออกกลาง ได้แก่ ประเทศซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน อิรัก คูเวต กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กลุ่มประเทศในแอฟริกา ได้แก่ แอลจีเรีย ลิเบีย กาบอง และไนจีเรีย กลุ่มประเทศแถบทะเลคาริบเบียน ได้แก่ ประเทศเวเนซุเอลา โคลัมเบีย เม็กซิโก และตรินิแดด รวมทั้งประเทศเอกวาดอร์ในอเมริกาใต้ กลุ่มประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่กักเก็บอยู่บนพื้นดิน โดยได้มีการพัฒนาแหล่งผลิตปิโตรเลียมและมีการนำมาใช้แล้ว ส่วนปิโตรเลียมแหล่งใหม่ๆ ที่มีขนาดใหญ่และสำคัญนั้นได้แก่ แหล่งปิโตรเลียมในแถบทะเลเหนือของทวีปยุโรป และแหล่งปิโตรเลียมในประเทศออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย การสำรวจขุดเจาะไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงาน การขุดเจาะจำเป็นต้องตั้งแท่นเจาะสำรวจปิโตรเลียม ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง เริ่มตั้งแต่การสำรวจการขุดเจาะ ถ้ามีปริมาณไม่เพียงพอก็ไม่คุ้มค่ากับการพัฒนาแหล่งผลิตปิโตรเลียม
แหล่งที่พบปิโตรเลียมของประเทศไทย ประเทศไทยเริ่มมีการสำรวจปิโตรเลียมครั้งแรกประมาณปี พ.ศ. 2464 โดยกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินซึ่งเป็นอธิบดีกรมรถไฟหลวงในขณะนั้นทรงได้ว่าจ้างนักสำรวจทางธรณีวิทยาชาวอเมริกันให้ค้นหาน้ำมันและพบน้ำมันดิบที่อำเภอฝางจังหวัดเชียงใหม่และยังพบร่องรอยของปิโตรเลียมที่จังหวัดกาฬสินธุ์
ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 แผนกเชื้อเพลิงของกระทรวงกลาโหม ได้ทำการศึกษาสำรวจหาแหล่งน้ำมันเพิ่มเติมที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดตาก พ.ศ. 2481 กรมทางหลวงได้พัฒนาและทดลองกลั่นน้ำมันที่หลุมแอ่งฝาง โดยได้ดำเนินการอยู่ 7 ปี แต่ปริมาณน้ำมันที่ได้มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นช่วง พ.ศ. 2490-2499 กรมทรัพยากรธรณีได้รับช่วงเจาะสำรวจที่ลุ่มแอ่งฝางและที่อื่นๆ
พ.ศ. 2503 รัฐได้เริ่มเปลี่ยนแปลงนโยบาย โดยให้เอกชนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศบริษัทเอกชนได้รับอนุมัติเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2505 ให้ทำการสำรวจปิโตรเลียมในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในปี พ.ศ. 2508 กรมทรัพยากรธรณีได้จัดทำหลักเกณฑ์ การยื่นของสิทธิ์สำรวจผลิตปิโตรเลียมขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2511 ได้แบ่งพื้นที่ในประเทศไทยเป็นแปลงๆทั้งบนบกและในทะเล เพื่อสะดวกในการขอสัมปทาน
จากการสำรวจพบว่า บริษัทเอกชนได้มีการพบปิโตรเลียมครั้งแรกในอ่าวไทย ปี พ.ศ. 2516มีการพบก๊าซธรรมชาติเป็นปริมาณจำนวนมาก สามารถนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ แหล่งที่พบได้แก่เอราวัณ บรรพต สตูล ปลาทอง และฟูนาน เป็นต้น
นอกจากนี้บนภาคพื้นดินแล้วก็ยังมีการพบและผลิตน้ำมันในบริเวณต่างๆ เช่น จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดเชียงราย เป็นต้น
ตาราง แสดงจำนวนปริมาณสำรองปิโตรเลียมของประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทยพบแหล่งปิโตรเลียมเป็นจำนวนมากพอสมควร โดยมีปริมาณสำรองของก๊าซธรรมชาติประมาณ 12.9 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต น้ำมันดิบ และคอนเดนเสตหรือน้ำมันดิบชนิดใสประมาณ 179.1 ล้านบาร์เรล ปิโตรเลียมเหล่านี้สามารถนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ ลดการนำเข้าปิโตรเลียมจากต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจของไทยเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น